วัดมัชฌิมาวาส  ( พระอารามหลวง )

ประวัติวัดมัชฌิมาวาส

พระอารามหลวงชั้นตรี  จังหวัดอุดรธานี

หลวงพ่อนาค พระพุทธรูปนาคปรกหินขาว

พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองอุดรธานี






พระประธานในพระอุโบสถ  วัดมัชฌิมาวาส

วัดมัชฌิมาวาส ( พระอารามหลวง )   ตั้งอยู่เลขที่ ๕  ถนนวัฒนานุวงศ์  ตำบลหมากแข้ง  อำเภอเมืองอุดรธานี  จังหวัดอุดรธานี

ที่ตั้งวัด  วัดมัชฌิมาวาส  มีเนื้อที่  ๑๕  ไร่  ๑  งาน  มีถนนล้อมรอบทั้ง  ๔  ด้าน  คือ

ด้านทิศตะวันออก ถนนหมากแข้ง และถนนอุดรดุษฏี

ด้านทิศใต้ ถนนวัฒนา

ด้านทิศตะวันตก ถนนพานพร้าว

ด้านทิศเหนือ ถนนโพนพิไสย 


ที่ตั้งวัดอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการหลายแห่ง คือ ห่างจากศาลจังหวัดอุดรธานี ประมาณ ๔๐ เมตร ห่างจาก

สถานีกาชาดที่ ๙ และสาธารณสุขจังหวัด

ประมาณ ๓๐ เมตร ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ ๑๒๐ เมตร ห่างจากวิทยาลัยเทคนิคอุดรธานีประมาณ ๓๐ เมตร ห่างจากสำนักงานเทศบาลเมืองอุดรธานี ประมาณ ๒๕๐ เมตร และตั้งอยู่ในย่านกลางของคุ้มต่างๆ คือ คุ้มบ้านห้วย คุ้มหมากแข้ง คุ้มทุ่งสว่าง และคุ้มบ้านคอกงัว

ชนิดของวัด  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ได้รับพระราชทานพระราชานุญาต สถาปนาเป็นพระ

อารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ  เมื่อวันที่ ๗ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๗

ผู้สร้างวัด  พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม สมัยดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงใหญ่ ผู้

สำเร็จราชการหัวเมืองลาวพวน ได้ทรงสร้างวัดร้างโนนหมากแข้งขึ้นเป็น วัดมัชฌิมาวาส เมื่อปี พุทธศักราช ๒๔๓๖ พร้อมกับทรงสร้างเมืองอุดรธานี

ความเดิมก่อนสร้างวัด  สถานที่ตั้งแห่งวัดมัชฌิมาวาส เป็นวัดร้างมาก่อน จะร้างมาแต่เมื่อใด และมีชื่อว่า

วัดอะไร ไม่อาจทราบได้ แต่มีหลักฐานที่

ทราบว่าเป็นวัดร้างอยู่ ๒ อย่าง คือ มีเจดีย์ศิลาแลงตั้งอยู่ที่โนน ( เนิน ) ประชาชนเล่ากันสืบมาว่า เป็นเจดีย์ก่อคร่อมตอหมากแข้งใหญ่และมีพระพุทธรูปหินขาวปางนาคปรก จะได้เล่ารายละเอียดในภายหลัง เพื่อให้เนื้อความเชื่อมติดกัน ควรจะได้นำเหตุการณ์บ้านเมืองมาเล่าไว้บ้างตามสมควรดังต่อไปนี้


ประวัติความเป็นมา  วัดมัชฌิมาวาส เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญของจังหวัดอุดรธานี ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า วัดเดิม หรือ วัดเก่า  ก่อนจะมาเป็นวัด

มัชฌิมาวาส ก็เคยเป็นวัดร้างมาก่อน ชื่อว่าวัดโนนหมากแข้งแต่หลักฐานที่พอให้ทราบได้ว่าเป็นวัดร้างนั้น ก็มีอยู่ 2 อย่าง คือเจดีย์ศิลาแลงตั้งอยู่ที่โนน (เนิน) ประชาชนเล่าสืบกันมา ว่าเจดีย์นั้นได้ครอบ หรือ คร่อมตอหมากแข้งขนาดใหญ่ และมีพระพุทธรูปหินขาว ปางนาคปรก หรือหลวงพ่อนาค (ปัจจุบัน คือ หลวงปู่นาค) อยู่ภายในเจดีย์ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองอุดรมาอย่างยาวนาน 

ต่อมาในรัชกาลที่ 5 พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม สมัยดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงใหญ่ ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองลาวพวน 

ข้าหลวงมณฑลผู้ก่อตั้งเมืองอุดรได้สร้างวัดขึ้น ณ บริเวณนี้ ซึ่งอยู่ในเขตตำบลโนนหมากแข้ง (ซึ่งเคยเป็นวัดร้าง) แล้วมีภิกษุจำพรรษาอีกครั้ง  เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วัดมัชฌิมาวาส เมื่อราว พ.ศ. 2436 พร้อมกับการสร้าง เมืองอุดรธานีขึ้น วัดมัชฌิมาวาสจึงได้ขึ้นชื่อว่าเป็นวัดที่เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองอุดรฯจนตราบเท่าทุกวันนี้ 

ปัจจุบันพระพุทธรูปหินขาว ปางนาคปรก หรือ "หลวงพ่อนาคปรก" ก็ได้นำมาประดิษฐานไว้ที่หน้าพระอุโบสถ ให้ชาวอุดรฯและจังหวัดใกล้เคียงได้

สักการบูชา กันมาจนถึงทุกวันนี้ และกลายเป็นพระพุทธรูปที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์คู่วัดมัชฌิมาวาสตลอดมา 

ทั้งนี้วัดมัชฌิมาวาส หรือชื่อเดิมว่า วัดโนนหมากแข้ง ได้รับพระราชทานบรมราชานุญาตสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 7 

พฤษภาคม พ.ศ. 2507 

ที่วัดมัชฌิมาวาส นอกจากประดิษฐานหลวงพ่อนาคแล้ว ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไปแล้ว ยังเป็นวัดที่สำคัญตั้งแต่แรกเริ่มการสร้าง

เมืองอุดรธานี ดังนั้นจึงมีสิ่งก่อสร้างสมัยรัชกาลที่ 5 ปรากฎอยู่หลายอย่าง เช่น พระอุโบสถ พระวิหารและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่ได้รับการปฏิสังขรณ์เป็นอย่างดีมาแล้ว จึงเหมาะสำหรับผู้สนใจศึกษาด้านสถาปัตยกรรม ยิ่งกว่านัั้นยังร่มรื่น เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการมาปฏิบัติธรรมอีกด้วย  

ส่วนทำเลที่ตั้งของวัดมัชฌิมาวาส  วัดมัชฌิมาวาส ตั้งอยู่บนเนื้อที่ทั้งหมด 15 ไร่ 1 งาน มีถนนล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านทิศตะวันออก ติดกับ

ถนนหมากแข้ง และถนนดุษฎี ด้านทิศใต้ ติดกับถนนวัฒนา ด้านทิศเหนือ ติดกับถนนโพนพิไสย อยู่ใกล้กับสถานที่ราชการหลายแห่ง คือ ใกล้ศาลจังหวัดอุดรธานี โดยห่างจากศาลจังหวัดอุดรธานทีเพียง 40 เมตรเท่านั้น ใกล้กับสถานีกาชาดที่ ๙ และสาธารณสุขจังหวัด ประมาณ 30 เมตร ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 120 เมตร ด้านหลังติดกับโรงเรียนเทคนิคอุดรธานี โดยห่างกันเพียง 30 เมตร ห่างจากสำนักงานเทศบาลเมืองอุดรธานี ประมาณ 250 เมตร และตั้งอยู่ในย่านกลางของคุ้มต่าง ๆ คือ คุ้มบ้านห้วย คุ้มบ้านโนน คุ้มหมากแข้ง คุ้มทุ่งสว่าง และคุ้มบ้านคอกวัว 

กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม


การสร้างเมืองอุดรธานีและวัดมัชฌิมาวาส

เนื่องจากเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ตามความในสัญญาข้อ ๓ ห้ามไม่ให้ไทยมีกองทหารตั้งอยู่ภายในรัศมี ๒๕ 

ก.ม.  จากฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งในสมัยนั้นไทยมี

กองทหารตั้งอยู่ที่เมืองหนองคาย จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องย้ายกองทหารออกจากเมืองหนองคายภายในเวลา ๑ เดือนและบรรดาป้อมค่ายคูก็จะต้องรื้อถอนเสียให้สิ้นเชิง เมื่อมีสัตยาบันกันแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงใหญ่สำเร็จราชการหัวเมืองลาวพวน ซึ่งตั้งกองรักษาการณ์อยู่เมืองหนองคาย จึงได้ย้ายกองบัญชาการออกจากเมืองหนองคาย

การขนย้ายนั้น คนผู้เฒ่าผู้แก่เล่าไว้ว่า ต้องใช้เกวียนประมาณ ๒๐๐ เล่ม เป็นพาหนะ ได้ออกเดินทางรอนแรมมาโดยลำดับจนถึงลำน้ำซวย ( ซวย 

หมายถึง ปลาชนิดหนึ่ง ปัจจุบัน เรียกน้ำสวย ) เสด็จในกรมฯ ได้ให้ตรวจดูพื้นที่ เพื่อจะได้ตั้งกองบัญชาการแต่เมื่อได้ตรวจดูโดยถี่ถ้วนแล้ว เห็นว่ามีพื้นที่ไม่สม่ำเสมอสูงๆต่ำๆ ไม่เหมาะสมที่จะสร้างเป็นเมืองใหญ่ในโอกาสข้างหน้า และตั้งอยู่ห่างจากฝั่งแม่น้ำโขง ประมาณ ๒๐ ก.ม. เท่านั้น พระองค์ได้อพยพรอนแรมมาทางทิศใต้โดยลำดับ ห่างจากน้ำซวยประมาณ ๓๐ ก.ม. จนถึงบ้านเดื่อหมากแข้ง จึงได้พักกองเกวียนอยู่ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ข้างวัดมัชฌิมาวาส ในบริเวณสาธารณสุขจังหวัดในปัจจุบัน จึงได้ให้ออกไปสำรวจดูห้วย หนอง คลอง บึง ในบริเวณใกล้เคียงทางทิศตะวันออกมีหนองบัวกลอง หนองเหล็ก ทางทิศใต้มีหนองขอนกว้าง ทางทิศตะวันตกมีหนองนาเกลือ หนองวัวข้อง หนองสวรรค์ และทางทิศเหนือมีหนองสำโรง หนองแด และมีลำห้วยหมากแข้ง ซึ่งมีต้นน้ำจากภูเขาพาน มีน้ำใสสะอาด มีป่าไผ่ปกคลุม มีปลา เต่า จระเข้ ชุกชุมมาก ลำน้ำนี้ไหลผ่านจากทิศใต้สู่ทิศเหนือลงลำห้วยหลวง เสด็จในกรมฯ จึงตกลงพระทัยให้ตั้งกองบัญชาการสร้างบ้านแปงเมืองลง ณ พื้นที่ดังกล่าวนี้ โดยพระองค์ได้สร้างวังประทับอยู่ใกล้ต้นโพธิ์ใหญ่ในบริเวณสาธารณสุขจังหวัด ในปัจจุบันนี้ และได้สร้างสถานที่ราชการมีศาลากลางจังหวัดเป็นต้น โดยมากหันหน้าไปทางทิศเหนือแทบทุกแห่ง มีคำเล่ากันต่อมาว่าที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากเสด็จในกรมฯ ทรงตั้งพระทัยหวังจะตั้งรับสุ้ฝรั่งเศส ผู้รุกรานและอาจจะทรงหวังว่า ในวันหนึ่งข้างหน้าพี่น้องฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงจะกลับมารวมเป็นทองแผ่นเดียวกันอีก

เสด็จในกรมฯ ทรงเข้าพระทัยเป็นอันดีว่าราชอาณาจักรกับพุทธจักรเป็นของคู่กันพร้อมกันกับ

การสร้างเมืองนั่นเอง พระองค์ทรง

เห็นว่าควรจะสร้างหลักใจควบคุ่กันไปด้วย ณ บริเวณใกล้เคียงกับที่สร้างวังประทับนั้น มีโนนอยู่แห่งหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า "โนนหมากแข้ง" มีเจดีย์ศิลาแลง มีสัณฐานดังกรงนกเขาตั้งอยู่ที่โนนนั้น เล่ากันสืบมาว่า เป็นเจดีย์ก่อคร่อมตอหมากแข้งใหญ่ นัยว่ามีต้นหมากแข้งขนาดใหญ่ต้นหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินล้านช้างร่มขาวได้ให้มาโค่นไปทำกลอง และทำเป็นกลองขนาดใหญ่ได้ถึง ๓ ใบ ใบที่หนึ่งเอาไปไว้ที่นครเวียงจันทน์ ใช้ตีเป็นสัญญาณบอกเหตุในเมื่อมีข้าศึกศัตรูมาราวี เมื่อตีกลองใบนี้พระยานาคจะขึ้นมาช่วยรบข้าศึกศัตรูให้พ่ายแพ้ แต่ภายหลังถูกเชียงเมี่ยงไปหลอกให้ทำลายกลองใบนี้เสีย ชาวเวียงจันทน์จึงไม่มีพระยานาคมาช่วยดุจในอดีต ใบที่สองนำไปไว้ที่นครหลวงพระบาง ส่วนใบที่สามเป็นใบที่เล็กกว่า ๒ ใบนั้น ได้นำไปไว้ที่วัดหนองบัว (วัดเก่าตั้งอยู่ติดกับสายอุดร-สกลนคร ห่างจากทางรถไฟประมาณ ๕ เส้นยังมีเจดีย์ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน) เพราะมีกลองหมากแข้งอยู่ที่วัดซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งหนองบัว จึงเรียกว่า หนองบัวกลอง แต่ปัจจุบันคำว่า กลอง ฺหายไป คงเหลือแต่ หนองบัว เท่านั้น ต้นหมากแข้งต้นนี้ คนในสมัยก่อนไม่มีความชำนาญในมาตราวัด จึงเล่าบอกขนาดไว้ว่า "ตอหมากแข้งนั้น ภิกษุ ๘ รูป นั่งฉันจังหันได้อย่างสะดวกสบาย" แสดงให้เห็นว่าต้นหมากแข้งนั้นใหญ่โตมากเอาการทีเดียว

แต่คงไม่ได้หมายความว่า ภิกษุทั้ง ๘ รูปนั้นนั่งบนตอหมากแข้ง เห็นจะหมายความว่า ภิกษุทั้ง ๘ รูปนั่งวงล้อมรอบตอหมากแข้งโดยใช้ตอหมากแข้งเป็นโต๊ะ หรือโตกสำหรับวางอาหาร แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมองเห็นว่าเป็นตอหมากแข้งที่ใหญ่มากทีเดียว

เรื่องต้นหมากแข้ง ท่านเจ้าปู่  พระเทพวิสุทธาจารย์ ( บุญ ปุญญสิริมหาเถระ )  เจ้าอาวาสรูปที่ ๓  ซึ่งได้มาอยู่วัดมัชฌิมาวาสเมื่อ

พ.ศ. ๒๔๔๐ คือหลังจากสร้างวัดเพียง ๔ ปี ได้เล่าว่า ที่โนนหมากแข้งนั้นมีต้นหมากแข้งขนาดเล็กอยู่มากมาย และมีต้นหมากแข้งขนาดใหญ่เท่ากับต้นมะพร้าวขนาดเขื่องอยู่ต้นหนึ่ง แต่มีลำต้นไม่สูงเป็นพุ่มมีกิ่งก้านสาขาแผ่ออกอย่างไพศาล ประมาณ พ.ศ.๒๔๔๒ มีแบ้ (แพะ) ของวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์จำนวนมาก ได้มากินใบกินกิ่งก้านของมัน มันจึงตาย เข้าใจว่าต้นหมากแข้งต้นนี้เห็นจะเป็นหลานหรือเหลนของต้นหมากแข้งที่เจ้าเมืองล้านช้างร่มขาวเอาไปทำกลองเพลนั้นแน่ เจดีย์ศิลาแลงนั้นตั้งอยู่ตรงกลางพระอุโบสถ

วัดมัชฌิมาวาสในปัจจุบันนี้

นอกจากมีเจดีย์ก่อคร่อมตอหมากแข้งขนาดใหญ่ดังกล่าวแล้วนั้นยังมีพระพุทธรูปหินขาวปางนาคปรกเป็นหินขาวเป็นแท่ง เป็น

ท่อนๆ ช่างนำมาติดต่อประกอบเข้าเป็นองค์ชาวบ้านใกล้เคียงมีบ้านเดื่อหมากแข้งเป็นต้นนับถือว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มากได้พร้อมกันสร้างปลูกสร้างศาลาขนาดเล็กมุงด้วยหญ้าคาเป็นที่ประดิษฐาน ได้ทำบุญสรงน้ำในเทศกาลสงกรานต์ และทำบุญบั้งไฟบูชาเป็นประจำทุกปี เชื่อถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่สามารถจะอำนวยความผาสุขบำบัดปัดเป่าความชั่วร้ายให้หายสูญ

เสด็จในกรมฯ จึงได้โปรด ให้สร้างวัดขึ้นที่บริเวณวัดร้างโนนหมากแข้งนี้และได้ทรงตั้งชื่อว่า "วัดมัชฌิมาวาส" จัดเป็นวัดคู่เมือง

อุดรธานี ในเบื้องแรกก็ให่้สร้างกุฏิหลังเล็กๆเพียง ๒-๓ หลังเท่านั้น พอให้เป็นที่พักอาศัยของพระภิกษุสามเณร นายช่างที่ควบคุมการก่อสร้างในสมัยนั้น คือ หลวงวุฒิวัฒกีกรรม (เชย ไชยสิทธิ์) แล้วพระองค์ได้อาราธนา ท่านพระครูธรรมวินยานุยุตต์ (เฟื้อย) ให้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก เข้าใจว่า ท่านพระครูธรรมวินยานุยุตต์นั้นได้อพยพติดตามมาพร้อมกับขบวนของเสด็จในกรมฯ เหมือนอย่างชาวบ้านในปัจจุบันนี้ ได้อพยพย้ายครอบครัวไปสร้างบ้านใหม่ ก็มักจะมีภิกษุสามเณรลูกหลานอพยพติดตามไปด้วย และได้ไปสร้างวัดขึ้นในที่ไปอยู่นั้น

เมื่อเสด็จในกรมฯ ได้ทรงสร้างวัดมัชฌิมาวาสขึ้นแล้ว ก็ได้สั่งให้หัวเมืองต่างๆ ในการปกครอง คัดเลือกภิกษุสามเณรส่งมาอยู่จำ

พรรษาอยู่ที่วัดมัชฌิมาวาส เพื่อจะได้ศึกษาและฝึกหัดอบรมระเบียบแบบแผนต่างๆ พระองค์มรความสนพระทัยในกิจการพระพุทธศาสนาเป้นอย่างยิ่ง ได้ทรงเอาเป็นธุระฝึกหัดอบรมระเบียบ แบบแผน ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีตลอดถึงการซ้อมสวดมนต์ ซ้อมเทศน์ ก็ทรงเอาเป็นธุระด้วยพระองค์เอง การพระพุทธศาสนาในระยะนั้นก็ดำเนินไปด้วยความเรียบทุกประการ เมืองและวัดต่างก็อยู่ในขั้นก่อร้างสร้างตัวเหมือนกัน มีความสามัคคีกลมเกลียวเป็นอันดี เมืองช่วยวัด วัดช่วยดัดผลัดกันช่วยทุกวันคืน เสด็จในกรมฯ ทรงพยายามจะสร้างวัดมัชฌิมาวาสให้สมบูรณ์ตามฉบับแห่งวัดในพระพุทธศาสนา จึงโปรดให้สร้างโรงอุโบสถขึ้น ๑ หลัง ที่โนนหมากแข้ง ถัดจากเจดีย์ไปทางทิศเหนือประมาณ ๘ เมตร ทำด้วยไม้ หลังคามุงด้วยกระเบื้องไม้ตะเคียนทอง แล้วอาราธนาพระพุทธรูปนาคปรกหินขาว

เข้าประดิษฐานเป็นพระประธานในโรงพระอุโบสถนั้น เพื่อให้พระสงฆ์มีที่ทำสังฆกรรมถูกต้องตามพระวินัย ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานวิสุงคามสีมาและได้รับพระบรมราชานุญาต เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๙ ปรากฏตามสำเนาหนังสืออนุญาตดังต่อไปนี้


พระอุโบสถท่ามกลางแมกไม้ร่มรื่น 

ขวามือคือวิหารพระเทพวิสุทธาจารย์

ศาลาบุญสิงห์ และโรงเรียนพระปริยัติธรรม ( ปุญญสิริ )

( สำเนา )

ที่ ๕๖/๒๑๔

มีพระบรมราชโองการประกาศไว้แก่ชนทั้งปวงว่า ที่เขตพระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาส

แขวงเมืองหนองคาย โดยยาว ๒๑ วา กว้าง ๑๑ วา พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ได้กราบบังคมทูลพระกรุณา ขอวิสุงคามสีมา พระเจ้าแผ่นดินสยามได้ทรงยินดีอนุโมทนาอนุญาตแล้ว โปรดให้ กรมการ ปักกำหนดให้ตามประสงค์ ทรงพระราชอุทิศที่นั้นให้เป็นที่วิสุงคามสีมา ยกเป็นแผนกหนึ่งต่างหากจากพระราชอาณาเขต เป็นที่วิเสสสำหรับพระสงฆ์มาแต่จาตุทิศทั้งสี่ทำสังฆกรรมมีอุโบสถกรรม เป็นต้น

พระราชทานตั้งแต่ ณ วันที่ ๒๗ มกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๕ พุทธศาสนกาล 

๒๔๓๙ พรรษา เป็นวันที่ ๑๐๓๐๕ ในรัชกาลปรัตยุบันนี้

อิทํ มยา รญฺญา ปรมินฺทมหาจุฬาลงฺกรณ สยามวิชิเต รชฺชํ การยตา


เสด็จในกรมฯ ได้ทำนุบำรุงวัดมัชฌิมาวาส ตลอดระยะเวลาที่ประทับอยู่ค่ายหมากแข้งเป็นเวลาหลายปี จนถึงวันที่ ๑๑ กันยายน

ร.ศ. ๑๑๘ พ.ศ. ๒๔๔๒ ปีกุน จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กลับกรุงเทพพระมหานครและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม  และรั้งหน้าผู้บัญชาการเรืออีกตำแหน่งหนึ่ง  และในปีเดียวกันนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้สถาปนาพระยศเลื่อนขึ้นเป็น  "กรมหลวง"  และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์   (เมื่อครั้งยังเป็นหม่อมเจ้า)  ข้าหลวงรอง  เป็นเทศาภิบาลมณฑลฝ่ายเหนือ  ตรงนี้ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะรู้สึกว่าฟั่นเฝือเหลือประมาณ   เพราะในตอนต้นกล่าวว่าหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ   ครั้นมาถึงตอนนี้กลายเป็นมณฑลฝ่ายเหนือ  จึงเห็นสมควรแทรกเรื่องความเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไว้  ดังต่อไปนี้

พ.ศ. ๒๔๔๒  ปีกุน  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   มีพระบรมราชโองการให้เปลี่ยนชื่อมณฑลดังต่อไปนี้

๑.  เมืองเชียงใหม่  ลำพูน  น่าน  เถิน  แพร่  และเมืองขึ้นของเมืองเหล่านี้  ซึ่งรวมเรียกว่ามณฑลลาวเฉียงต่อนี้สืบไปให้เรียกว่า  

มณฑลฝ่ายตะวันตกเฉียงเหนือ

๒.  เมืองหนองคาย  หนองหาร  ขอนแก่น  ชนบท  หล่มศักดิ์  กมุทาสัย  สกลนคร  ชัยบุรี  โพนพิสัย  ท่าอุเทน  นครพนม  มุกดาหาร  รวม  ๑๒  หัวเมือง  และเมืองขึ้นของเมืองเหล่านี้ซึ่งรวมเรียกว่า  

มณฑลลาวพวนนั้น  ต่อนี้สืบไป  ให้เรียกว่า  มณฑลฝ่ายเหนือ  

๓.  เมืองจำปาศักดิ์  อุบลราชธานี  ศรีสะเกษ  และเมืองอื่นๆ  ซึ่งรวมเรียกว่ามณฑลลาวกาวนั้น  ต่อนี้สืบไปให้เรียกว่า  มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ  

๔.  เมืองพระตะบอง  เสียมราฐ  ศรีโสภณ  พนมศก และเมืองขึ้นของเมืองเหล่านี้ซึ่งรวมเรียกว่ามณฑลเขมร ต่อน้ีสืบไปให้เรียกว่า  มณฑลตะวันออก

๕.  หัวเมืองในมณฑลนครราชสีมา  ซึ่งแบ่งเป็น  ๓  บริเวณ  คิอ  นครราชสีมา  พิมาย  ปักธงชัย  และจันทึก  ซึ่งรวมเรียกว่า  บริเวณนครราชสีมานั้น  ต่อนี่้ไปให้ารวมเรียกว่าเมืองนครราชสีมา  

๖.  เมืองนางรอง  บุรีรัมย์  ประโคนชัย  พุทไธสง และรัตนบุรี ซึ่งรวมเรียกว่าบริเวณนางรองนั้น ต่อนี้สืบไปให้รวมเรียกว่า เมืองนางรอง ยกเป็นเมืองจัตวาเมืองหนึ่ง  

๗.  เมืองชัยภูมิ ภูเขียว เกษตรสมบูรณ์ จัตุรัส และบำเหน็จณรงค์ ซึ่งรวมเรียกว่า บริเวณชัยภูมินั้น ต่อนี้สืบไปให้รวมเรียกว่า เมืองชัยภูมิ ยกเป็นเมืองจัตวาเมืองหนึ่ง

พ.ศ. ๒๔๕๐ ปีมะแม ได้มีการเปลี่ยนชื่อมณฑล  ๔ มณฑล คือ เปลี่ยนชื่อมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือเป็นมณฑลอีสาน, ชื่อมณฑลฝ่ายเหนือเป็นมณฑลอุดร, ชื่อมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นมณฑล

พายัพ และบริเวณเมืองนครราชสีมา เมืองนางราง เมืองชัยภูมิ รวมเป็น มณฑลนครราชสีมา ในที่นี้เพื่อไม่ให้เรื่องยาวเกินไป จะกล่าวถึงวิธีแบ่งการปกครองเฉพาะมณฑลอุดร ดังต่อไปนี้

มณฑลอุดร

มณฑลอุดร พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์) เป็นสมุหเทศาภิบาล แบ่งเขตปกครองออกเป็น ๕ บริเวณคือ

๑. บริเวณหมากแข้ง พระรังสรรค์สรกิจ (เลื่อน) เป็นข้าหลวงบริเวณ ตั้งที่ทำการอยู่ที่เมืองหนองคาย มีเมืองปกครองเพียงเมือง

เดียว และมี ๘ อำเภอ คือ

เมืองหนองคาย พระยาประทุมเทวาภิบาล (เสือ) เป็นผู้ว่าราชการเมือง พระอนุรักษ์ประชาราษฎร์เป็นผู้ว่าราชการเมือง มี

อำเภอในสังกัด ๘ อำเภอ คือ

๑. อำเภอหมากแข้ง

๒. อำเภอหนองคาย

๓. อำเภอท่าบ่อ

๔. อำเภอหนองหาร

๕. อำเภอมุทาสัย (ปัจจุบันนี้คืออำเภอหนองบัวลำภู)

๖. อำเภอโพนพิสัย

๗. อำเภอรัตนวาปี (ปัจจุบันนี้เป็นตำบลในอำเภอโพนพิสัย)

๘. อำเภอกุมภวาปี

๒. บริเวณธาตุพนม พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (เลื่อง ภูมิรัตน์) เป็นข้าหลวงบริเวณ มีเมืองปกครองเพียง

เมืองเดียวคือ เมืองนครพนม พระยาพนมนครานุรักษ์ (กาพรหมประกาย ณ นครพนม) เป็นผู้ว่าราชการเมือง มีอำเภอในสังกัด ๑๑ อำเภอ คือ

๑. อำเภอนครพนม

๒. อำเภอมุกดาหาร

๓. อำเภอเมืองหนองสูง (ปัจจุบันนี้เป็นตำบลในอำเภอคำชะอี)

๔. อำเภอเมืองชัยบุรี (ปัจจุบันนี้เป็นตำบลในอำเภอท่าอุเทน)

๕. อำเภอเมืองท่าอุเทน

๖. อำเภอเมืองเรณูนคร

๗. อำเภอเมืองอาจสามารถ (ปัจจุบันนี้เป็นตำบลในอำเภอเมืองนครพนม)

๘. อำเภอเมืองอากาศอำนวย

๙. อำเภอเมืองกุสุมาลย์มณฑล

๑๐. อำเภอเมืองโพไพศาล

๑๑. อำเภอรามราช

๓. บริเวณสกลนคร หลวงวิสัยสิทธิกรรม (จีน) เป็นข้าหลวงบริเวณ มีเมืองปกครองเพียงเมืองเดียวคือ เมืองสกลนคร มีพระยา

ประจันต ประเทศธานี (โหง่นคำ) เป็นผู้ว่าราชการเมือง พระอนุบาลสกลเขต (เมฆ) เป็นปลัดเมือง  มีอำเภอในสังกัด ๕ อำเภอ คือ

๑. อำเภอเมืองสกลนคร

๒. อำเภอพรรณา (ปัจจุบันนี้เรียกว่าอำเภอพรรณานิคม)

๓. อำเภอวาริชภูมิ

๔. อำเภอวานรนิวาส

๕. อำเภอจำปาชนบท (บัดนี้เป็นอำเภอพังโคน)

๔. บริเวณภาชี ขุนผดุงแค้นประจันต์ (ช่วง) เป็นข้าหลวงบริเวณมีเมืองปกครองเพียงเมืองเดียว คือ เมืองขอนแก่น ผู้ว่าราชการ

ว่าง มีอำเภอในสังกัด ๔ อำเภอ คือ

๑. อำเภอเมืองขอนแก่น

๒. อำเภอเมืองมัญจาคีรี

๓. อำเภอชนบท

๔. อำเภอภูเวียง

๕. บริเวณน้ำเหือง พระรามฤทธี (สอน) ว่าที่ข้าหลวงบริเวณตั้งที่ทำการกลางเมืองเลย มีเมืองในสังกัดเพียงเมืองเดียวคือ เมือง

เลย พระศรีสงคราม (ท้าววรบุตรมณีเหมาภา) เป็นผู้ว่าราชการเมืองมีอำเภอในสังกัด ๓ อำเภอ คือ

๑. อำเภอเมืองเลย

๒. อำเภอท่าลี่

๓. อำเภออาฮี


เจ้าอาวาส

เจ้าอาวาสรูปที่ ๑ พระครูธรรมวินยานุยุตต์ นามเดิม (เฟื้อย) ประชาชนนิยมเรียกว่า หลักคำเฟื้อยบ้าง สังฆราชเฟื้อยบ้าง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่สร้างวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๒ 

ได้ทูลลากลับถิ่นมาตุภูมิที่เมืองยโสธร

เจ้าอาวาสรูปที่ ๒ พระครูธรรมวินยานุยุตต์ นามเดิม (หนู) เดิมเป็นพระเถระผู้ใหญ่อยู่วัดที่เมืองหนองคาย ทางราชการ

อาราธนามาเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ และในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ทางการคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ซึ่งมหาอำมาตย์ตรี พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดรสร้างขึ้นใหม่

เจ้าอาวาสรูปที่ ๓ พระเทพวิสุทธาจารย์ (บุญ ปุญฺญสิริ) หรือหลวงปู่ดีเนาะ เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ จวบจนมรณภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ รวมเวลาเป็นเจ้าอาวาส ๖๓ ปี

เจ้าอาวาสรูปที่ ๔ พระราชพุทธิมุนี (สิงห์ สุหชฺโช ปธ.๓) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสต่อจากหลวงปู่ดีเนสะได้เพียงปีเศษก็ถึงแก่มรณภาพเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๖

เจ้าอาวาสรูปที่ ๕ พระธรรมปริยัติโมลี (บุ่น โกวิโท ปธ.๘) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ จนถึงมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๗

เจ้าอาวาสรูปที่ ๖ พระราชวิมลเมธี ดำรงตำแหน่งสืบต่อมาจนถึงมรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๙

เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พระเมธีกิตยาภรณ์ (สายพงศ์ อโนมปญฺโญ)


การยกฐานะเป็นพระอารามหลวง

วัดมัชฌิมาวาสได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยกเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี

ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ ๗ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๗ ดังสำเนาแจ้งความกระทรวงศึกษาธิการ ดังต่อไปนี้

( สำเนา )

แจ้งความกระทรวงศึกษาธิการ

เรื่อง ยกวัดมัชฌิมาวาส เป็นพระอารามหลวง

ด้วยทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยกวัด

มัชฌิมาวาสในเขตเทศบาลเมืองอุดรธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เป็น

พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๐๗ เป็นต้นไป

แจ้งความ ณ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๐๗


หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ปูชนียวัตถุสำคัญของวัด

ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า ที่โนนหมากแข้งมีเจดีย์ศิลาแลง มีสัณฐานดุจกรงนกเขา และพระพุทธรูปหินขาวปางนาคปรก บัดนี้ เจดีย์ศิลาแลงได้ถูก

รื้อไม่มีซากเหลือให้เห็นเสียแล้ว ยังคงเหลืออยู่แต่พระพุทธรูปหินขาวปางนาคปรกเท่านั้น ประชานิยมเรียกสั้นๆว่า "หลวงพ่อนาค" แต่เดิมมาหลวงพ่อนาคนี้เป็นพระประธานในอุโบสถหลังเก่าครั้นทางวัด โดยท่านเจ้าคุณพระเทพวิสุทธาจารย์ได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว พ.ศ.๒๔๙๔ จึงรื้อพระอุโบสถหลังเก่า และได้อาราธนาหลวงพ่อนาคไปประดิษฐานไว้ที่หน้ามุขด้านหน้าของพระอุโบสถ แต่องค์ที่เห็นอยู่ในรูปที่นำมาลงในหนังสือนี้ หาใช่องค์เดิมไม่ องค์เดิมที่แท้จริงอยู่ข้างใน คือท่านเจ้าคุณพระเทพวิสุทธาจารย์ ได้ให่ช่างก่อหุ้มองค์เดิมไว้ ประชาชนนับถือว่าเป็นพระพุทธรูปมิ่งเมืองอุดรธานี เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเพราะมีประจำอยู่ที่โนนหมากแข้งนี้ก่อนสร้างเมืองอุดรธานี เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์น่าอัศจรรย์ ประชาชนเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไปนมัสการขอพรให้หายป่วย นักเรียนจะสอบ ข้าราชการจะสอบเลื่อนชั้น ก็ไปนมัสการขอพรให้สอบได้ คนหาย ของหาย ก็ไปนมัสการขอให้เห็นขอให้ได้คืน จนกระทั่งจะจัดงานมงคลหรืออวมงคลก็ไปนมัสการขอพรให้งานราบรื่น ฝนฟ้าอย่าได้ตก หลวงพ่อนาคจะช่วยได้หรือไม่ ไม่มีใครบอกได้ถูก นอกจากคนผู้ไปนมัสการขอพรย่อมรู้แน่แก่ใจตนเอง แต่ก็มีประชาชนนำทองคำเปลวไปปิดทุกวัน ซึ่งเป็นเครื่องชี้ให้เห็นศรัทธาอันแรงกล้าของประชาชนอันมีต่อหลวงพ่อนาคไดเป็นอย่างดี ทางวัดได้ถือเอาหลวงพ่อนาคเป็นสัญลักษณ์ของวัด และตราประจำวัดก็มีรูปพระนาคปรกอยู่ตรงกลาง

การจัดการศึกษา

ในระยะแรก มีการเรียนสวดมนต์ ท่องจำปาติโมกข์ เรียนมูลกัจจายนปกรณ์ แปลปาติโมกข์และคัมภีร์สมันตปาสาทิกา อาจารย์สอนประจำสำนัก

เรียนคือพระครูธรรมวินยานุยุตต์ (เฟื้อย) และอาจารย์สุข สรรพอาษา เพราะในสมัยนั้นการศึกษาแผนกนักธรรมและบาลียังไม่แพร่ออกมายังทางหัวเมือง

ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ทางวัดจึงได้ตั้งโรงเรียนนักธรรมขึ้นและได้เปิดสอนเฉพาะนักธรรมชั้นตรี มีนักเรียน ๑๐ กว่ารูปเท่านั้น เมื่อมีลูกศิษย์มี

วิทยฐานะมากขึ้น จึงได้เปิดสอนตามลำดับ ดังนี้

พ.ศ. ๒๔๗๗ เปิดสอนนักธรรมชั้นโท

พ.ศ. ๒๔๘๓ เปิดสอนนักธรรมชั้นเอก

พ.ศ. ๒๔๘๔ เปิดสอนแผนกบาลี

การศึกษาทั้งแผนกธรรมและบาลีได้เจริญรุดหน้ามาโดยลำดับตั้งแต่มีนักเรียน ๑๐ กว่ารูป ใน พ.ศ. ๒๔๖๖ จนมีนักเรียน ๒๐๐ กว่ารูป ในปัจจุบัน 

(พ.ศ. ๒๕๑๔)

พระพุทธรูปหินขาว ปางนาคปรก

หลวงพ่อนาค








การอุปถัมภ์

วัดมัชฌิมาวาส เป็นวัดของประชาชนทั่วไป ไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าเป็นวัดของตระกูลนั้น หรือของชนหมู่นั้น หรือของผู้นั้น แม้วัดนี้ พลตรี พระเจ้า

น้องยาเธอ กรมหลวงประจกษ์ศิลปาคม จะได้ทรงสร้างขึ้น ก็ไม่มีชื่อของพระองค์ติดอยู่ในชื่อวัดเลย ได้ทรงตั้งชื่อว่า " วัดมัชฌิมาวาส" ซึ่งหมายความว่า เป็นศูนย์กลาง เป็นย่านกลาง แห่งการสร้างความดี คำว่า "กลาง" ก็หมายความว่า "เป็นของทุกคน" เช่นคำว่า "ของกลาง" โดยที่เสด็จในกรมได้ทรงมอบให้เป็นสมบัติของประชาชนทุกคนไม่ได้จำเพาะเจาะจงเหมือนบางวัด แม้ว่าเสด็จในกรมได้ทรงมอบให้เป็นวัดของประชาชนทุกคนแล้วก็ตาม ถึงกระนั้นก็ยังทรงมีพระทัยเป็นห่วงอยู่เหมือนมารดาได้มอบทรัพย์มรดกให้แก่บุตรธิดาแล้ว ก็ยังเป็นห่วง คอยเอาใจใส่สอดส่องดูแลอยู่เสมอ เพื่อแสดงออกซึ่งน้ำพระทัย เสด็จในกรมได้ส่งฉายาลักษณ์ (รูปถ่าย) ขนาด ๒๔ นิ้ว แต่งตัวแบบอุบาสก นั่งเก้าอี้เต็มองค์ มาไว้ที่วัดมัชฌิมาวาสเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๖๖ ทางวัดได้ตั้งประดิษฐานไว้ภายในอุโบสถ ประชาชนทั้งหลายได้ตอบสนองความตั้งพระทัยแห่งเสด็จในกรมด้วยดี โดยให้การทะนุบำรุงอุดหนุนค้ำจุนด้วยปัจจัยสี่ และให้ความร่วมมือร่วมใจตลอดมา ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตให้ยกเป็นพระอารามหลวงแล้วประชาชนก็ยิ่งให้ความอุปถัมภ์มากขึ้น

พระเทพวิสุทธาจารย์(บุญ ปุญญสิริ)

หลวงปู่ดีเนาะ

วันอดีตเจ้าอาวาส

วันที่ ๑๐ มีนาคม  ถือว่าเป็นวันอดีตเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส โดยยึดเอาวันมรณภาพแห่งท่านเจ้าคุณพระเทพวิสุทธาจารย์ (บุญ  ปุญญสิริมหาเถระ)  เป็นหลัก มีการบำเพ็ญบุญทักษิณาอุทิศให้เจ้าอาวาสทุกรูปเป็นประจำทุกปี








วันอันทรงเกียรติของวัด

วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะแม เวลา ๑๘.๓๐ น. 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เอกอัครศาสนูปถัมภ์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จเยี่ยมวัดมัชฌิมาวาส ทางวัดได้จัดการต้อนรับเสด็จ ณ ภายในพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเข้าไปภายในพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้งทรงปฏิสันถารกับพระธรรมวินยานุยุตต์ (บุญ ปุญญสิริมหาเถระ) เจ้าอาวาส ๔ ข้อ คือ ตรัสถามว่า

๑. วัดนี้สร้างขึ้นแต่เมื่อใด ๒. พระภิกษุสามเณรในวัดนี้มีจำนวนเท่าไร ๓. ประชาชนมีความเลื่อมใสให้ความอุปถัมภ์มากหรือไม่ ๔. วัดนี้เป็นวัดมาแต่เดิมหรือสร้างขึ้นใหม่ พระธรรมวินยานุยุตต์ เจ้าอาวาสได้ถวายพระพรวิสัชนาให้ทรงทราบ แล้วได้ถวายพระพุทธรูปปางนาคปรก ขนาด ๕ นิ้ว ๑ องค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ถวายปวารณาบัตรบำรุงวัดมีมูลค่า ๑,๐๐๐ บาท แล้วเสด็จออกไปภายนอกอุโบสถ ทรงประทับยืนจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธรูปนาคปรก ที่หน้ามุขอุโบสถ แล้วเสด็จกลับ

วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๐๗ ตรงกับวันพุธ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง เวลา ๑๖.๓๐ น. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้

เสด็จเยี่ยมวัดมัชฌิมาวาส ทางวัดได้จัดการต้อนรับที่ภายในพระอุโบสถ สมเด็จย่าได้เสด็จเข้าไปภายในพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วประทับที่พระเก้าอี้ตรัสปฏิสันถารกับพระเทพวิสุทธาจารย์ (บุญ ปุญญสิริมหาเถระ) เจ้าอาวาสประมาณ ๕ นาที จึงเสด็จกลับ สมเด็จย่าได้ถวายกัปปิยภัณฑ์บำรุงวัดเป็นมูลค่า ๑,๐๐๐ บาท และยาตำราหลวงชุดใหญ่ ๑๕๐ ชุด

ทางวัดถือว่าเป็นเกียรติประวัติ และเป็นมิ่งมงคลแก่วัดอย่างยอดเยี่ยมจึงบันทึกไว้ในที่นี้ เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้อนุชนได้ทราบต่อไป